Rating: | ★★★ |
Category: | Music |
Genre: | Classical |
Artist: | 吳至青 อู๋จื้้อชิง |
ฟังเพลงครับ คำอธิบายถ้าขี้เกียจก็ไม่ต้องอ่านก็ได้ครับ ผมก็เขียนไปเรื่อย หรือมีอารมณ์ก็ค่อยกลับมาอ่าน
แค่หลับตาลง เอนหลังแล้วก็ฟังเท่านั้นก็พอ มี ๑๑ เพลง เพราะไม่เพราะก็ลองดูครับ
ผมรู้จักซีดีแผ่นนี้มาจากการลองฟังในร้าน เห็นว่าปกสวย เสียงร้องก็ไม่ได้จัดว่าดีมาก
หากไม่พูดถึงดนตรีที่ออก minimalism และทำได้ดีแล้ว
เนื้อร้องนี่ล่ะครับที่เด่น ฟังไปสี่ห้าประโยคเท่านั้น โอ้โห..ใครแต่งเนี่ย
ตัดสินใจซื้อได้ทันทีเลย ไม่ได้ดูเลยด้วยซ้ำว่าเป็นเพลงของใคร
กลับมาบ้านดูปกซีดีถึงรู้ว่าเป็นเพลงของอู๋จื้อชิง ( 吳至青) ชื่อชุด 詩詞吟唱 หรือ Poetry Singing
ถึงกระจ่าง...เนื้อร้องเป็นบทกวีสมัยราชวงศ์ถัง ราชวงศ์ซ่ง น่าจะประมาณพันสี่ร้อยกว่าปี ศต.๑๑ หรือหลังจากนั้น
เช่นของหลี่อวี้ 李煜, เอี้ยนซู宴殊 ,จางจื้อเหอ 張志和 ฯลฯ ที่น่าจะดังๆและเคยได้ยินกันบ้าง
ก็อย่างเช่น กวีเพนจรหลี่ไป๋ 李白, ซูซื่อหรือซูตงโพ 蘇軾
อู๋จื้อชิงมีประวัติกล่าวถึงได้พอสมควร เป็นนักบำบัด เรียนโรงเรียนระดับท๊อปมาตั้งแต่เด็ก
จบ โท.วาสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยท๊อปเช่นกัน เคยทำงานเป็น reporter
และเคยย้ายไปทำงานเป็นผู้ประกาศทีวีของสิงคโปร์ หลังจากนั้นจึงไปเรียน PhD.
ทางด้าน language pathology ที่อเมริกา
จริงแล้วศาสตร์ด้านนี้เข้าใจว่าถ้าจะเจาะลึกทางจีนจะต้องจบเอกภาษาจีนมาถึงจะตรง
ได้ยินมาว่าเป็นศาสตร์ cognitive science ที่ค่อนข้างจะอยู่ในยุคบุกเบิกและยังมีความไม่เข้าใจ
กันอยู่เยอะ เมื่อก่อนคนมีปัญหาทางนี้เขาว่าสมองหรือ hardware มีปัญหา
แต่พอมาหลังๆปรากฏว่ามันอาจไม่ใช่ มันมีเรื่อง software ในสมองของคนด้วย
เอาหมอมารักษาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้พวกที่เข้าใจภาษา semiology อย่างลึก
เข้าใจความมีพลังของ index, icon, symbol ศาสตร์แห่งสัญญะซึ่งถ้าเป็นภาษาจีนแล้ว
แม้แต่โซซูร์ หรือ Pierce ก็เขียนไว้ไม่คลอบคุมเพราะภาษาจีนมันเป็นภาษา logogram
ไม่เหมือนภาษาฝรั่ง อะไรพวกนี้มาศึกษา
บางคนสมองเสียพูดภาษาไม่ได้ แต่เขียนหนังสือได้ก็มี ตรงข้ามกันก็มี บางคนพูดไม่ได้
แต่พอได้ยินอะไรเหมือนสะกดพูดได้เลยก็มี คาดว่าตะวันตกไม่ค่อยมีผู้เชี่ยวชาญภาษาจีน
ไปเรียนฝั่งตะวันตกน่าจะได้อะไรกลับมาคนละอย่าง นอกเรื่องไปเยอะเลย
เมื่ออายุประมาณสิบปี ด้วยความบังเอิญแห่งโชคชะตา อู๋จื้อชิงผู้ที่รู้จักและจดจำบทกวีได้มากพอประมาณ
ได้พบกับชายชราที่เห็นแววของเธอ ชายชรามักจะรออยู่ที่หินก้อนใหญ่ปลายสะพาน
และสอนโคลงกลอนคัมภีร์โบราณให้แก่เธอ จากงานประพันธ์วรรณกรรมคลาสสิคจำนวนมาก
สิ่งที่ทำให้เธอหลงไหลวางไม่ลงก็คือการขับร้องบทกวี ความหมายของมันสดใส
ร่างกายรู้สึกปลดปล่อย จิตใจเปี่ยมปิติ ทำให้เขาขณะที่ยังเด็กเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการขับกลอน
แล้วอธิบายได้ว่ารู้สึกเหมือนอิ่มเอมจากอาหารหรือสุราเล็กน้อย คล้ายถูกสะกดแต่สติยังสมบูรณ์
รู้สึกตัวเบาจะลอยขึ้นไปในอากาศเสียการทรงตัว
หลายปีต่อมาเมื่อมองกลับไปด้วยสายตาของมืออาชีพ การขับร้องบทกวีบางทีก็คล้ายกับการสะกดจิต
ซึ่งเต็มไปด้วยอำนาจการบำบัด ปรกติเสียงที่สวยงามมักจะมีคุณสมบัติก่อให้เกิดสั่นสะเทือนด้วยความถี่สูง
และให้ผลพลอยได้ด้านการบำบัด แต่ละวัฒนะธรรมมักจะมีการขับร้องหรือดนตรีที่ให้เสียงแบบนี้
เป็นองค์ประกอบรวมอยู่ด้วยเสมอ เป็นสิ่งที่แสดงออกถึงจิตวิญญานรากเหง้าของเผ่าพันธ์
และโดยทั่วไปมักจะเป็นบ่อเกิดแห่งความมั่นใจหรือความเชื่อมันในตัวเองของคนในแต่ละอารยธรรม
การขับร้องบทกวีจีนก็มีคุณสมบัติดังกล่าวซึ่งคงไว้ด้วยความงดงามก้าวข้ามมิติแห่งเวลาตกทอดถึงชนรุ่นหลัง
ความงดงามของบทกวีโบราณถูกฝังลึกในตัวอู๋จื้อชิงตั้งแต่เยาว์วัย เธออาศัยอยู่ชานเมืองหลวง
เวลาเลิกเรียนกลับบ้านจะต้องเดินผ่านภูเขา ระยะทางไม่ใกล้นักและต้องข้ามสะพานหลายแห่ง
คนที่สอนบทกวีภาษาและการขับกลอน ( 國學 ) ให้เธอได้รู้ซื้งกลับเป็นชายชราที่พบกันโดยบังเอิญที่สะพานแห่งหนึ่ง
(ของเขาจะเรียกวิชาภาษาจีนว่า 國學 แปลว่า “ชาติศึกษา” ไม่ได้เรียกว่า “วิชาภาษาไทย” หรือ “วิชา
ภาษาอังกฤษ” แบบไทยเรา คือของเขาเรียนภาษา บทกลอน และเรียนคำภีร์โบราณ ปราชญ์ ปรัชญา
เมธี ทั้งหลายด้วย เรียนรวมกันหมด เรียกว่าเป็นวิชาว่าด้วยอารยธรรมจีน ผมอธิบายแบบนี้สงสัยกัน
หรือเปล่าครับว่าทำไมวัฒนธรรมจีนมันถึงสิบทอดได้ดี ไม่ใช่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย
แต่ว่ามันเหนียวแน่น ไทยเราแค่จะหาคนท่องสุนทรภู่ได้นี่ก็ยากแล้ว มันไม่จำเป็นต่อชีวิต
อู๋จื้อชิงบอกว่าจำไม่ได้ว่าเริ่มต้นสนทนากับชายชราผู้นี้ได้อย่างไร อาจจะเป็นเพราะเขาบังเอิญได้ยินเธอท่องจำ
บทกลอนที่แม่ของเธอได้สอนเอาไว้มากโขดังๆขณะที่เธอเดินกลับบ้านทำให้ชายชราประทับใจและบอกว่า
หวังว่าจะได้เป็นครูเพื่อสอนสิ่งดีๆให้ หลังจากนั้นชายชราก็จะมารอเพื่อสอนหนังสือให้เป็นเวลาปีกว่า
จนกระทั่งเธอต้องย้ายไปอาศัยที่อื่น
ในเวลาปีกว่านั้นมีสิ่งที่เธอได้เรียน ว่าด้วยอารยธรรมจีน classical scripture ฯลฯ มากมาย
แต่สิ่งที่เธอจดจำหลงไหลแบบลืมไม่ลงก็คือการขับกลอน ตอนเด็กๆก็ไม่เข้าใจวิธีการร้องก็เลยมี
ความรู้ต่างๆตกหล่นไปบ้างเพราะไม่รู้ถึงความมีคุณค่าของมัน แต่ที่จำได้แม่นยำคือบทกวีของ หลี่โหวจู่
(หลี่อวี้李煜) ชื่อว่าเซียงเจี้ยนฮวน相見歡หรือ Joyous Reunion เพราะทำให้เธอพบกับ
ประสบการณ์มึนงงตัวเบาคล้ายถูกสะกด อะไรจะขนาดนั้น เดี๋ยวผมจะลองอธิบาย
แต่จะขอกล่าวถึงหลี่อวี้ 李煜สักนิด
หวี่อวี้ 李煜 เป็นกษัตริย์ราชวงศ์ถังใต้องค์สุดท้าย http://en.wikipedia.org/wiki/Li_Houzhu
มีมเหสี ๒ องค์เป็นพี่น้องกัน เป็นกษัตริย์ที่ไม่เก่งทางด้านการปกครอง แต่เป็นเลิศอย่างหาที่เปรียบไม่ได้
ทางด้านการเป็นนักกลอน นักหนังสือ ภาพวาด ดนตรี ฯลฯ จึงต้องพ่ายแพ้แก่ศัตรูและตกเป็นเชลย
ถูกจับขังไว้ในราชวังของราชวงศ์ซ่งตอนต้นพร้อมกับมเหสี(ยังดี ยิ่งถ้ามีอินเตอร์เน็ทด้วยยิ่งแจ๋ว)
และต่อมามเหสีคนน้องก็ถูกน้องชายกษัตริย์ซ่งขืนใจ จึงกล่าวคำน้อยใจขึ้นมา
ต่อมาจึงถูกบังคับให้เสวยยาพิษเพื่อเป็นการประหาร บทกลอนที่แต่งไว้จะมีสองแบบคือก่อนสงคราม
จะเป็นเรื่องความสุขชายหญิงหวานชื่น และหลังจากถูกกักขังจะเป็นเรื่องอาลัยอาวรในชะตาชีวิต
น้อยใจที่ปกป้องภรรยาตัวเองไม่ได้และคิดฝันถึงอดีตเก่าๆและบ้านเมืองที่เสียไป (ref: 龙德 )
เพลงแรกใน play list ที่ผมแปะไว้นี่ล่ะครับฝีมือการแต่งของหวี่อวี้ที่ผมฟังไม่กี่ประโยคก็ตัดสินใจซื้อ
สำหรับการฟังเพลงแล้วเกิดอาการมึนงงเคลิบเคลิ้มเสียการทรงตัวลองไปถามฝรั่งพวกที่ชอบฟังเพลง
Trance อาจจะบอกว่าเป็นไปได้ ไม่แปลก แต่คำอธิบายด้วยภาษาการแพทย์ตะวันตกคือ
การขับกลอนสามารถทำให้เกิดการกระตุ้นต่อระบบประสาทสมองคู่ที่ ๘ และคู่ที่ ๑๐ (ไปถามแพทย์),
ระบบหูชั้นใน และระบบควบคุมการทรงตัว และเกิดการกระตุ้นต่อ pineal gland (ควบคุมนาฬิกา
ชีวะภาพ), pituitary gland เรื่องการหลั่ง happy hormone จึงทำให้รู้สึกปิติ
ตัวเบาพึงพอใจจนถึงกับเสียศูนย์และคล้ายมึนเมา
.
เอาศาสตร์จีนอธิบายได้โดย 五音 หรือฉันท์ห้าทางดนตรี หรือ pentameter ภาษาจีนเรียกแต่ละตัว
ว่า角(jiǎo), 徵(zhǐ), 宮(gōng), 商(shāng), 羽(yǔ) อ่านว่า เจี่ยว, จื่อ, กง, ซัง, อวี่ ซึ่งก็แทนตัวโน๊ต
๕ ตัวในสเกล pentatonic นั่นเอง
ถึงตรงนี้ผู่อ่านลองไปหาเพลงพื้นเมืองโบราณ เพลงโฟล์คทั่วโลกมาฟังดู จะเห็นว่าเป็น pentatonic
scale เกือบหมดโลกคือมีโน๊ตแค่ ๕ ตัว รวมทั้งเพลงไทยเดิมด้วย ประหลาดดีแท้
จีนอธิบายเรื่องนี้ไว้หลายอย่างตั้งแต่สมัยสองพันหกร้อยกว่าปีมาแล้วคือ三分損益法 และกล่าวว่า
โน๊ต ๕ ตัว 角徵宮商羽 มีปฏิสัมพันธ์กับธาตุ น้ำ ไฟ ทอง ไม้ ดิน หรือกับฤดูต่างๆด้วย
ที่มาของ 角徵宮商羽 บางตำราบอกว่าแต่ละตัวมาจากรอบการโคจรของดวงดาวในดาราศาสตร์
มีใช้ 角徵宮商羽 แทน民事君臣物 (หมิง, ซื่อ, จวิน, เฉิน, อู้ คือ people, thing,
monarch, minister, matter) ด้วย ไปเกี่ยวกับฟงส่วยฮวงจุ้ยอะไรไปโน่นอีก
ถึงตรงนื้จะเห็นว่าศาสตร์ตะวันออกมัน holistic มาก คือเป็นองค์รวม ทุกอย่างเกี่ยวกันหมด
พูดได้อีกชาติหนึ่งก็ไม่จบ
กลับมาถึงดนตรีกับร่างกาย โน๊ต 角徵宮商羽 มีผลต่ออวัยวะ ๕ อย่างคือ ตับ หัวใจ ม้าม ปอด และไต และ
สติอารมณ์ ๕ ประการคือ โกรธ ชอบ ใคร่ครวญ กังวล หวาดกลัว ดั่งบันทึกประวัติศาสตร์ ดนตรีว่า
สามารถกระตุ้นระบบหมุนเวียนเลือดและระบบประสาท 宮(กง) กระตุ้นม้าม, 商(ซัง) กระตุ้นปอด,
角(เจี่ยว) กระตุ้นตับ, 徵(จื่อ) กระตุ้นหัวใจ, 羽(อวี่) กระตุ้นไต
มีบันทึกโบราณทางการแพทย์จีนกล่าวไว้ด้วยว่า “ดับโทสะไม่เปรียบบทกวี ดับลุ่มร้อนไม่เปรียบดนตรี”
อาจจะเป็นเพราะเพลง "เซียงเจี้ยนฮวน" ที่เขาร้องเป็นทั้งบทกวีที่สวยงามและมีท่วงทำนองที่ไพเราะ
จึงไม่เพียงลดโทสะดับความว้าวุ่นแต่ยังมีผลต่อระบบประสาทและอวัยวะดังกล่าวจึงทำให้เกิด
ประสบการณ์แปลกๆขึ้นได้
.
ใช้ศาสตร์สมัยใหม่แห่งการบำบัดอธิบายได้ว่าการขับร้องบทกวีมีความเป็นสัทวิทยาสูง (phonology)
ก็คือมีเสียงไพเราะคล้องจอง มีความหมายสวยงามและไวยากรณ์ถูกต้องตามหลักวากยสัมพันธ์และ
อรรถศาสตร์ ทำให้ร่างกายสร้างการสั่นสะเทือนละเอียดอ่อนความถี่สูงชนิดหนึ่งขึ้นมา (วัสดุทุกอย่างมี
ความถี่ของตัวเองทั้งสิ้น) ส่วนของความไม่สมดุลย์ความถี่ต่ำในร่างกายเนื่องจากได้รับผลกระทบจึงเกิด
resonance ขึ้นมาเพื่อปรับสมดุลย์เข้าสู่สภาพปรกติ (ไปถามแพทย์) และนอกจากนั้นแต่ละบาท
ของกลอนเซียงเจี้ยนฮวนจะมีเสียงสัมผัส “เวิง” เวลาลากเสียงยาวๆช้าๆฟังดูคล้ายกับเสียงสวด “โอม”
คำสวด “โอม” นับว่าเป็นคำศักสิทธิ์เก่าแก่ที่สุดคำหนึ่งของมนุษย์ แต่มีลักษณะการออกเสียงที่แตกต่าง
กันออกไปในแต่ละสถานที่และระหว่างผู้ค้นคว้าทั้งหลาย บางทีก็เป็น Aum, Um, Om, Ung,
Ang หรือ Ong หรืออย่างเช่นคำว่า “ฮาวายอี” ก็ด้วย ทั้งนี้อะไรที่สามารถก่อให้เกิดการคลื่นสั่น
สะเทือนความถี่สูงมีผลต่อการบำบัดและที่สำคัญผนวกกับจิตใจที่สะอาดผุดผ่องมีสมาธิก็จะเป็นการทำ
ความสะอาดจิตใต้สำนึกหวนสู่ความกลมกลืนกับจักรวาล ก็นับได้ว่าเป็นสิ่งเดียวกันแต่เพียงแค่มาจากต่าง
วัฒนธรรมกันเท่านนั่นเอง เมื่อรวมกันสองสิ่งทำให้เกิดเป็นความรู้สึกประหลาดๆดังกล่าว
.
ที่จริงดนตรีในอัลบั้มชุดนี้ก็ไม่เชิงเป็นทำนองโบราณแบบที่อธิบายไว้ข้างบน ภาษาจีนก็ไม่ใช่ภาษาที่มี
เสียงเพราะที่สุดในโลก ผู้ที่ไม่เข้าใจภาษาจีนเลยอาจเข้าถึงยากหน่อยแต่ผมว่าโดยทั่วไปก็เพราะน่าฟังดี
บางเพลงมันจะออกงิ้วๆนิดๆแต่ก็ไม่มาก คนไม่คุ้นก็อาจไม่ชอบ ผมเองก็ไม่ได้ชอบฟังงิ้วมากมาย หรือ
อย่างฟังโอเปร่าผู้หญิงร้องแล้วที่เพราะๆก็มี แต่ที่ฟังแล้วรำคาญก็เยอะ สรุปคือเหมือนกับที่ได้อธิบายไว้
ว่ามันต้องมาจากรากเง่าของวัฒนธรรมของใครของมันถึงจะเกิดสภาวะคุ้นเคยสะท้อนอยู่ในหัวใจได้
ผมเอาเนื้อกวีเพลงแรกในอัลบั้มคือ 浪淘沙ลั่งเถาซา หรือ คลื่นซัดทรายมาให้อ่านเล่น มีคนแปลไว้ แต่
แปลไม่ค่อยตรงกันหรอก บวกกับความหมายที่หายไปเมื่อเปลี่ยนเป็นภาษาอื่น
อยากรู้ต้นฉบับเพราะยังไงต้องไปเรียนภาษาจีนเอาครับ
.
浪淘沙 làngtáoshā คลื่นซัดทราย
帘外雨潺潺, liánwàiyǔchánchán, นอกม่านฝนพรำสาย
春意阑珊。 chūnyì lánshān.ใบไม้ผลิจวนอำลา
罗衾不耐五更寒。 luóqīnbùnài wǔgènghán. ผ้าบางเบาฤาต้านคืนเหน็บหนาว
梦里不知身是客, mènglǐ bùzhī shēn shìkè, ในฝันมิรู้...ตนคือผู้มาเยือน
一晌贪欢。 yīshǎng tān huān. ชมชอบจะรื่นเริงร่ำไป
独自莫凭栏, dúzì mò pínglán, พิงราวรั้วเพียงลำพัง
无限江山, wúxiàn jiāngshān ภูผาธารธารากว้างไกล
别时容易见时难。 biéshí róngyì jiàn shínán.ยามพบยาก จากแสนง่าย
流水落花春去也, liúshuǐ luòhuā chūn qùyě, บุปผาวารีโปรยปราย…
天上人间。 tiānshàng-rénjiān. จากสวรรค์ชั้นฟ้าสู่แดนดิน
Outside the curtain, the rain murmurs,
Spring draws to an end.
The quilt cannot resist the fifth watch cold.
I did not realize I was a guest in my dream,
Coveting pleasure.
I should not be alone leaning on these railings,
While spread before me the limitless country,
It is easy to part but difficult to again meet.
Like fallen flowers on flowing water, spring is gone,
So is my paradise.
http://lostinchinese.blogspot.com/2010/06/waves-washing-sand.html
แย่เลยนะครับ อดฟังเพลงเพราะ ๆ อีกแล้ว นะครับ
ReplyDeleteไปเล่น Last.FM ไหมครับ น่่าจะตรงกลุ่ม
ReplyDeleteหรือไม่ก็ ยูทู๊บ
ReplyDeleteจะไม่มีเพลงให้ฟังแล้ว ... เศร้า ...
ReplyDeleteจะย้ายไปไหนแจ้งให้ทราบด้วยนะครับจะได้ติดตาม
ขอบคุณครับสำหรับเพลงดีๆ
คลื่นซัดทราย เพราะจัง
ReplyDeleteมันจะเลิกแล้ว เลยไม่มีแรงโพสท์เลย
ReplyDeleteผมเคยก๊อปปี้ประวัติหวี่อวี้มาโพสท์ไว้เหมือนกันน่ะครับ อ่านเพิ่มเติมได้ถ้าศรัทธา
http://hayyana.multiply.com/notes/item/414?&item_id=414&view:replies=threaded
แล้วพี่เอ้จะไปโพสที่ไหนต่อค่ะ จะตามไปฟัง ^^
ReplyDeleteที่ยังเข้าๆออกๆ มตพ. เพราะพี่เอ้และพี่ใหญ่นี่แหละ (แอบใจหาย)
ReplyDelete