Saturday, August 6, 2011

Nellie Melba

http://www.archive.org/details/NellieMelba-01-35

Life In A Jar

Rating:★★★
Category:Other

ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สิ่งที่ถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังเรียนรู้นั้นมีหลายประเด็น ผ่านหลากหลายมุมมอง จากต่างเชื้อชาติ-ภาษา แต่ท่ามกลางเรื่องน่าหดหู่ ของสงคราม ก็ยังมีเรื่องชูใจของ Irena Sendler สตรีเพศที่สร้างวีรกรรมยิ่งใหญ่เอาไว้

ที่ Warsaw, Poland

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สองนั้น เยอรมันนาซีได้ตีกรอบพื้นที่และชี้ตัวชาวยิวที่มีอยู่ถึงเกือบสี่แสนคนจากประชากรหนึ่งล้านสามในเมือง ให้ไปอยู่รวมกันในบริเวณที่มีกำแพงอิฐสูง 3 เมตร ยาวถึง 16 กิโลเมตรโอบล้อมไว้ จำกัดอาหาร บังคับให้อยู่อย่างแออัด เด็กเล็กเดินเท้าเปล่ายามอากาศหนาวเหน็บ ไม่นานนักก็เกิดโรคระบาดอย่างไข้รากสาดใหญ่และวัณโรค ผู้คนล้มตายเดือนละประมาณสี่พันคน

Irena Sendler เป็นคนโปลิช เกิดที่กรุงวอร์ซอร์ เมื่อ พ.ศ. 2453 ถูกปลูกฝังโดยพ่อผู้เป็นแพทย์ที่ให้การรักษาดูแลชาวยิวอย่างเอื้อเฟื้อมาตลอด ตอนนั้น Irena Sendler มีอายุเพียง 30 ปี และเป็นพยาบาล เมื่อเกิดโรคระบาดจึงมีโอกาสเข้าไปทำงานในค่ายกักกัน แต่สิ่งที่ Sendler ทำนอกเหนือจากการดูแลผู้ป่วย คือ การลักลอบอพยพเด็กเล็กออกมาจากค่ายกักกัน และหาที่หลบภัยกับครอบครัวชาวโปลิชให้

การอพยพเด็กเหล่านั้น ทำทุกวิธีที่เป็นได้ ทั้งซ่อนใต้เปลในรถพยาบาล มุดออกมาทางท่อระบายน้ำ ใส่ตระกร้ามาในรถเข็น จับซุกใส่กระสอบ

เด็กราว 2,500 คนที่ได้รับการช่วยเหลือนั้น ถูกบันทึกชื่อลงบนกระดาษมวนบุหรี่ บรรจุลงในขวดโหลแก้วสองใบ...

หวังไว้ว่า สักวันเมื่อสงครามจบลง เด็กเหล่านี้จะได้รู้ที่มาของตนเองและกลับสู่ครอบครัวที่ถูกต้อง

Irena Sendler เล่าถึงความทุกข์ยากในภาวะสงคราม ความทุกข์ระทมของใจพ่อแม่ที่แตกสลาย ไม่รู้ว่าลูกที่ปล่อยให้หนีออกไปจะพบเจออะไร บางครอบครัวละล้าละลังแม้พ่อแม่อยากให้ไปแต่ปู่ย่าทำใจไม่ได้

ช่วงเวลาหลบหนีนั้นมีจำกัด ไม่นานนักชาวยิว 300,000 คน ก็ถูกขนย้ายจากค่ายกักกันไปยังค่ายสังหาร ปิดฉากความทรมาณที่พบเจอ เมื่อกลางกรกฎาคม พ.ศ. 2485

Irena Sendler ยังทำงานใต้ดินช่วยเหลือผู้คนต่อไป จวบจนวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2486 ก็ถูกจับกุมเพื่อเค้นหาข้อมูลของเครือข่ายที่ทำงานใต้ดิน (Zegota) และโดนทารุณกรรมจนกระดูกขาและเท้าแตก แต่ Irena Sendler ปิดปากสนิท จึงถูกตัดสินด้วยโทษถึงชีวิต

ก่อนหน้าวันประหาร เครือข่ายใต้ดิน (Zegota) หาทางช่วยเอาตัว Irena Sendler ออกมาได้และให้ใช้ชีวิตหลบซ่อน เมื่อการต่อสู้ของขบวนการใต้ดินเข้าขั้นวิกฤติ Irena Sendler จึงเอาขวดโหลบรรจุชื่อเด็กไปฝังดินซ่อนเอาไว้

เมื่อเหตุการณ์ Warsaw Rising จบลงในเดือนมกราคม พ.ศ. 2487 Irena Sendler จึงไปขุดขวดโหลบรรจุชื่อที่มาของเด็กเพื่อหาทางส่งตัวกลับคืนสู่ครอบครัว

เป็นเรื่องน่าสลดใจที่ครอบครัวของเด็กเหล่านั้น ทั้งสูญหาย และแทบไม่เหลือรอดชีวิตคอยรับลูกหลานกลับสู่อ้อมกอด เด็กเหล่านี้จึงแม่คนที่สองเป็นครอบครัวที่อ้าแขนรับเมื่อหลบหนีออกมาได้

ที่ Kansas, USA พ.ศ. 2542

ภายใต้โครงการ National History Day ครูโรงเรียนมัธยม นำเรื่องของ Irena Sendler มาเล่าให้นักเรียนฟังเพื่อจุดประกายให้นักเรียนค้นคว้าเพิ่มเติม แม้จะไม่แน่ใจว่ามีข้อเท็จจริงมากน้อยเพียงไร

นักเรียนหญิงอเมริกันสี่คนประทับใจกับเรื่องราว และค้นคว้าต่อจนรู้ว่ามีมูลความจริง นำเอาโครงเรื่องมาสร้างการแสดง ก็ประสบความสำเร็จ เกิดความประทับใจขึ้นในชุมชนเล็กๆ ที่ไม่มีนักเรียนเชื้อสายยิวเลย

แต่เด็กทั้งสี่ยังไม่หยุดค้นหาข้อมูลด้วยความอยากรู้ว่า ในวาระสุดท้าย Irena Sendler ถูกฝังร่างไว้ที่ใด

ความจริงที่ปรากฏ คือ Irena Sendler ยังมีชีวิตอยู่

จากนั้นมา ทุกการแสดงที่ตั้งชื่อไว้ว่า Life in a Jar จึงมีโหลแก้วติดไปด้วยหนึ่งใบเพื่อรับบริจาคเงินช่วยเหลือดูแล Irena Sendler and other Polish rescuers และเริ่มมีการติดต่อระหว่างกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

ความตอนหนึ่งของจดหมายตอบจาก Irena Sendler บ่งบอกความรู้สึกซาบซึ้งว่า

"my emotion is being shadowed by the fact that my co-workers have all passed on, and these honors fall to me. I can't find words to thank you, for my own country and the world to know of the bravery of rescuers. Before the day you had written Life in a Jar, the world did not know our story; your performance and work is continuing the effort I started over fifty years ago. You are my dearly beloved ones."

เรื่องราวของ Irena Sendler ก็ได้รับการขยายวงเผยแพร่ให้โลกได้รับรู้ มีการนำมาทำเป็นภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ ชื่อ The Courageous Heart of Irena Sendler ในเวลาเดียวกันนักเรียนจาก Kansas ก็ตั้งความหวังไว้ว่าจะได้พบตัวตนของ Irena Sendler สักวัน

ในที่สุด เมื่อพ.ศ. 2545 กลุ่มนักเรียนผู้ริเริ่มโครงการทั้งสี่จึงได้มีโอกาสเดินทางไปพบ Irena Sendler ที่โปแลนด์

ปัจจุบัน เด็กนักเรียนรุ่นนั้นอายุราวยี่สิบกลางๆ และแม้สี่คนผู้ก่อตั้งต่างก็มีครอบครัวแล้ว ก็ยังทำงานเผยแพร่เรื่องของ Irena Sendler ต่อไป

Irena Sendler มีอายุยืนยาว แวดล้อมไปด้วยลูกหลานที่แตกสายออกมาจากการให้กำเนิด ชีวิตใหม่แก่เด็กราว 2,500 คน จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อ 12 พฤษภาคม 2551

Elzbieta Ficowska (The Children of the Holocaust Association, Warsaw) ผู้ซึ่งถูก Irena Sendler คว้าตัวมาซ่อนในกล่องไม้แล้วขนออกมากับรถบรรทุกอิฐ เมื่ออายุได้เพียงห้าเดือน ยังจดจำถึงความกล้าหาญของ Irena Sendler และสรุปไว้งดงามว่า

สำหรับเด็กที่หลบหนีออกมา Irena Sendler เปรียบเสมือน แม่คนที่สามที่ไม่เคยทอดทิ้งทั้งยามดีและยามยาก...

In memory of Irena Sendler…




by SW19